เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ [3. โอปัมมวรรค] 7. จูฬหัตถิปโทปมสูตร

เกียรติคุณของพระตถาคตเปรียบกับรอยเท้าช้าง

[291] "พราหมณ์ อุปมาเหมือนพรานช้างจะพึงเข้าไปสู่ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
และเห็นรอยเท้าช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้างในป่าเป็นที่อยู่ของช้างนั้น พรานช้าง
ผู้ฉลาดย่อมไม่ด่วนตัดสินใจว่า 'ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ' ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าวามนิกา(พังค่อม)ที่มีรอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่
ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า
ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง และที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูงในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง
พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า 'ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ' ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะยังมีช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากาฬาริกา(พังโย่งมีขนายดำแดง) ที่มีรอยเท้าใหญ่
ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้าช้างนั้นไปก็เห็นรอยเท้า
ช้างขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง และที่ที่งาแซะขาดในที่สูงใน
ป่าเป็นที่อยู่ของช้าง พรานช้างผู้ฉลาดก็ยังไม่ด่วนตัดสินใจว่า 'ช้างตัวนี้ใหญ่จริงหนอ'
ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะช้างพังทั้งหลายชื่อว่าอุจจากเณรุกา(พังโย่งมีขนายตูม) ที่มี
รอยเท้าใหญ่ ในป่าเป็นที่อยู่ของช้าง รอยเท้านี้จะพึงเป็นรอยเท้าช้างพังเหล่านั้น
พรานช้างนั้นตามรอยเท้าช้างนั้นไป เมื่อตามรอยเท้านั้นไปก็เห็นรอยเท้าช้าง
ขนาดใหญ่ทั้งยาวและกว้าง ที่ที่ถูกเสียดสีในที่สูง ที่ที่งาแซะขาดในที่สูง และกิ่งไม้
หักในที่สูง และเห็นช้างนั้นที่โคนต้นไม้ ที่กลางแจ้ง เดินอยู่ ยืนอยู่ หมอบ หรือ
นอนอยู่ เขาจึงตัดสินใจว่า 'ช้างตัวนี้เองเป็นช้างใหญ่ตัวนั้น' แม้ฉันใด ข้ออุปไมยนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเอง
โดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึก
ได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า
เป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา และมนุษย์ด้วยตนเองแล้วจึงประกาศ
ให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 12 หน้า :322 }